Thursday, February 4, 2016

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักสูตรป.ตรี วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฉบับปรับปรุง

เรียนหัวหน้าภาค กรรมการหลักสูตรป.ตรี คณาจารย์ และคุณสมพร 

ผมมีขอเสนอแนะเกี่ยวกับหลักสูตร ป.ตรี ฉบับปรับปรุงปี 2559 ดังรายละเอียดต่อไปนี้ครับ 

-------------------------------------------------------------------------------------

หมวดที่ 1
1. หัวข้อที่ 3 วิชาเอกหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะหลักสูตร น่าจะเพิ่มความสามารถในการทำวิจัย การวิเคราะห์และเลือกใช้ชั้นตอนวิธีที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา เข้าไปด้วย
2. หัวข้อที่ 8 อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา น่าจะเพิ่มอาจารย์และนักวิจัยทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้วย 

หมวดที่ 2
1.1. ปรัชญา ควรจะเขียนให้สั้นและกระชับหรือไม่ เช่น 
สร้างบัณฑิตทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เป็นที่ต้องการอย่างสูงของหน่วยงานต่าง ๆ และสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ บัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรจะมีความสามารถในการใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง มีคุณธรรมและจริยธรรมในวิชาชีพ เป็นบุคลากรที่มีบทบาทเป็นผู้นำทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และในวงการการศึกษาและวิจัย 

หรือเอาสั้น ๆ แบบนี้ดีครับ 

ใฝ่รู้ เก่งงาน เด่นการวิจัย ใส่ใจคุณธรรม :)

1.2 ความสำคัญ น่าจะพูดถึงการจัดการด้าน Big Data, IoT และเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาด้วย
1.3 วัตถุประสงค์ มีความรู้สึกว่ายังไม่ค่อยชัดเจน อย่างคำว่าศักยภาพด้าน ICT ยังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ควรขยายหรือไม่

2. แผนพัฒนาปรับปรุง นอกจากจะยึดตาม TQF แล้ว น่าจะพูดถึงมาตรฐานกลางที่เป็นที่ยอมรับอย่าง  ACM และพูดถึงความต้องการของตลาดแรงงานด้วย 

3. ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง 
ข้อ 3 ควรแก้เป็น  เพื่อผลิตบัณฑิตทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีจริยธรรมในวิชาชีพ 

จริง ๆ ผมอยากเสนอแบบนี้ ถ้าเห็นด้วยข้อไหน จะลองเอาไปใส่เพิ่มก็ได้นะครับ 

 
1. สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการคำนวณ (computing) คณิตศาสตร์ วิทยาศาสต์และวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม
2. มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา และกำหนดความต้องการด้านการคำนวณเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
3. สามารถออกแบบ ดำเนินการทดลอง และสามารถวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
4. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. มีความรู้ความเข้าใจด้าน จริยธรรมวิชาชีพ ความปลอดภัย กฎหมาย และประเด็นด้านสังคมและความรับผิดชอบต่อสังคม
6. สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งด้วยภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
7. สามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคล องค์กรและสังคมจากการใช้เทคโนโลยี
8. สามารถประยุกต์ใช้ เทคโนโลยี ทักษะ และเครื่องมือในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
9. สามารถเลือกใช้ขั้นตอนวิธี วิธีการทางคณิตศาสตร์ และทฤษฎีทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยสามารถบอกได้ว่าทำไมวิธีการที่เลือกใช้จึงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าอีกวิธีหนึ่ง
10. สามารถเลือกและประยุกต์ใช้หลักการออกแบบและพัฒนาอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาระบบงานด้านคอมพิวเตอร์ ที่มีความซับซ้อนในระดับต่าง ๆ
11. ออกแบบระบบ คอมโพเนนต์ หรือกระบวนการที่ตอบสนองความต้องการได้ภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมจริงเช่นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง จริยธรรม สุขภาพและความปลอดภัย

2. หัวข้อการดำเนินการของหลักสูตร
2.5 แผนการรับนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาในระยะ 5 ปี คิดว่าปริมาณรับจำนวน 150 คน มากไป ควรจะจำกัดอยู่ที่รุ่นละ 80-100 คน หรือเต็มที่ก็ 120 คน

หัวข้อรายวิชา
มีข้อเสนอแนะดังนี้

1. วิชาบังคับทางคณิตศาสตร์ ส่วนตัวติดว่าวิชา 05506002 กรรมวิธีคำนวณเชิงตัวเลข ไม่น่าจะต้องเป็นวิชาบังคับ ที่อยากเสนอคือ จะเป็นไปได้แค่ไหนที่จะแยกวิชา Calulus ออกมาเป็นสองตัว เพราะเท่าที่อ่านเนื้อหาดูแน่นมากที่จะอยู่ในแค่วิชาเดียว

2. วิชา 05506200 หลักการจัดการห่วงโซ่อุปทานและวิเคราะห์การเงิน อันนี้ก็ไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่าควรจะเป็นวิชาบังคับทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ไหม ส่วนตัวอยากเสนอวิชา 05506105 หลักการภาษาโปรแกรม เป็นวิชาบังคับ

3. จากการที่ได้รับมอบหมายให้หาวิธีจัดการวิชาปัญหาพิเศษ ข้อเสนอแนะหนึ่งที่กรรมการเสนอก็คือควรจะมีวิชาระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodolgy) เป็นวิชาบังคับ เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจถึงกระบวนการ วิธีการดำเนินงาน และวิธีการเขียนเล่มปัญหาพิเศษ

4. ในส่วนของวิชากลุ่มวิศกรรมซอฟต์แวร์ ผมคิดว่าวิชา 05506077 การคำนวณแบบเอนเทอร์ไพรส์ ก็สามารถอยู่ในกลุ่มนี้ได้

5. วิชา 05506060 การพัฒนาซอฟต์แวร์เชิงคอมโพเนนต์05506034 การคำนวณเชิงคอมโพเนนต์ มันวิชาเดียวกันนะครับ ทำไมถึงกลายเป็นสองวิชา

6. วิชา computer science ควรเป็นวิชาบังคับหรือไม่ ?

6. ผมข้อแก้คำอธิบายรายวิชาของวิชา 05506021 ทฤษฎีออโตมาตาและภาษาโปรแกรม เป็นดังนี้
ออโตมาตาสถานะจำกัด นิพจน์ปกติ ไวยากรณ์ปกติ ออโตมาตากดลง ภาษาและไวยากรณ์ ไม่อิง
บริบท เครื่องทัวริงและเครื่องที่ดัดแปลงจากเครื่องทัวริง ปัญหาที่ตัดสินไม่ได้ ทฤษฎีคอมไพเลอร์เบื้องต้น

Finite state automata, regular expression, regular grammar, push down automata,
context-free language and context-free grammar, Turing machine and its variation, Undecidable problems, Introduction to compiler theory.

7. ผมขอแก้ชื่อวิชา 05506041 ระบบปฏิบัติการแบบกระจาย 3(3-0-6) Distributed Operating Systems เป็น ระบบกระจาย Distributed Systems และขอแก้ไขคำอธิบายรายวิชาเป็นดังนี้

แนวคิดและสถาปัตยกรรมของระบบกระจาย การโปรแกรมแบบพร้อมกัน การสื่อสารและ
ประสานงานระหว่างโพรเซส การเรียกจากระยะไกล อ็อบเจกต์และคอมโพเนนต์แบบกระจาย เว็บเซอร์วิสและสถาปัตยกรรมเชิงบริการ ทรานแซกชันและการควบคุมภาวะพร้อมกัน ความมั่นคงแบบกระจายของระบบคอมพิวเตอร์

Distributed system concepts and architectures, concurrent programming, interprocess communication and coordination, remote invocation, distributed objects and components, web services and service-oriented architecture, transactions and concurrency control, distributed security of computer systems.

ในส่วนของแผนการศึกษาถ้า 
1. แยก Calculus เป็นสองตัว ก็เรียนปี 1 เทอม 1 และ เทอม 2 จากนั้นขยับ 05016003 พีชคณิตเชิงเส้นและการประยุกต์ 1 มาอยู่ปี 3 เทอม 1 แทน 05506002 กรรมวิธีคำนวณเชิงตัวเลข
2. 05506105 หลักการภาษาโปรแกรม เป็นวิชาบังคับ ผมขอเสนอให้อยู่ปีสามเทอม 2 ครับ

Wednesday, February 3, 2016

ข้อเสนอแนวทางปฎิบัติสำหรับปัญหาพิเศษ

ตามที่ผมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการสอบปัญหาพิเศษ ผมและคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย

อ.อนันตพร
อ.ประพจน์
อ.ไพรัตน์
อ.สันธนะ 

ได้ประชุมกัน และได้ข้อสรุปตามที่เคยส่งเอกสารทางอีเมลแล้วทีหนึ่ง แต่จากการประชุมวันนี้ (4 ก.พ. 59) ทางหัวหน้าภาคได้ให้ผมเวียนแจ้งคณาจารย์ทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ผมก็เลยขอใช้ช่องทางบล็อกนี้นะครับ อาจารย์แต่ละท่านมีข้อเสนอแนะจะได้คอมเมนต์ลงในบล็อกเลย เอกสารสามารถดูได้ตามลิงก์นี้ครับ 

ขอบคุณครับ
ศรัณย์



Sunday, November 8, 2015

การย้ายเมลจาก KMITL Web mail เดิม เข้าสู่ Web Mail ใหม่

สวัสดีครับชาว KMITL ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้เมื่อสักสามสี่วันก่อนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพวกเราบางคนที่ใช้เมลสถาบันในการติดต่องานที่เป็นทางการกับภายนอก แต่พอดีไม่ว่างก็เลยล่วงเลยมาถึงวันนี้

เริ่มเลยแล้วกันนะครับ ผมคิดว่าพวกเราที่ใช้ Web Mail ของสถาบันอยู่คงรู้ว่าระบบมันล่มมาเกือบเดือนแล้ว เข้าไม่ได้เลย และก็มีข่าวว่าสถาบันเรากำลังทำการย้ายระบบเมลขึ้นไปสู่คลาวด์โดยใช้ Google App For Education พูดง่าย ๆ ว่าต่อไปเราจะให้ Google ดูแลระบบอีเมลให้เรานั่นเอง ตามเอกสารที่จะพูดถึงต่อไป ไม่ทราบพวกเรามีใครได้รับหรือยังครับ สำหรับตัวผมเองยังไม่ได้เลยถ้าไม่ได้เพื่อนกรุณาส่งมาให้ก็คงไม่รู้เรื่อง  ถ้าใครยังไม่ทราบเรื่องก็ลองอ่านเอกสารที่ผมจะแนบให้ 3 ฉบับนี้นะครับ

  1. แจ้งการใช้ระบบอีเมล อันนี้เป็นการแจ้งให้ย้ายและวิธีการคร่าว ๆ  
  2. คู่มือสำหรับบุคคลากร อันนี้ป็นคู่มือที่ละเอียดมากขึ้น 
  3. คู่มือการย้ายเมลจากระบบเดิม อันนี้เป็นประโยชน์มากนะครับถ้าใครต้องการนำอีเมลสำคัญที่อยู่บนระบบเดิมขึ้นมาที่ระบบใหม่ แต่ปัญหาคือรู้สึกมันจะเอาเฉพาะเมลที่อยู่ในกล่องขาเข้าหลักขึ้นมาให้เท่านั้น เพราะตามคู่มือบอกว่าถ้าใครจัดเก็บเมลสำคัญอยู่ในโฟลเดอร์อื่นจะต้องไปย้ายเข้ากล่องขาเข้าหลักก่อน และตอนนี้เราไม่สามารถเข้าเมลระบบเดิมได้ ดังนั้นให้ข้ามขั้นตอนการจัดการอีเมลเก่าไปนะครับ มันจะมีส่วนที่บอกว่าจะเอาเมลเก่าที่อยู่ในกล่องขาเข้าหลักเข้ามาใหม่ได้ยังไง ที่ผมลองทำดูก็ได้เมลที่อยู่ในกล่องขาเข้าหลักคืนมานะครับแต่ไม่ครบ รู้สึกช่วงที่มันล่มแรก ๆ จะหายไปเลย ส่วนในกล่องอื่นก็ต้องทำใจรอต่อไป หรืออาจะไม่ได้อีกเลยเพราะจากการที่ได้พูดคุยกับผู้รู้บางท่านเราอาจไม่สามารถเข้าถึงเมลเดิมได้อีกแล้ว เอาเถอะอย่างน้อยก็ยังได้รายชื่อผู้ติดต่อบางส่วนคืนมาด้วยครับ 
น่าเบื่อเหมือนกันนะครับ แต่ถ้ามองในแง่บวกก็คือเป็นการบังคับให้เราได้ย้ายไปใช้ระบบอีเมลที่เสถียรและน่าเชื่อถือขึ้น ไม่ใช่ได้รับบ้างไม่ได้รับบ้าง ล่าช้าบ้าง หรือส่งออกบ้างไม่ออกบ้างนะครับ...